กลุ่มอาคารภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมงและภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช

คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ชื่อ (Name) กลุ่มอาคารภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง และภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล.

ชื่อดั้งเดิม (Original Name) หอพัก โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร

ที่ตั้ง Location) คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เลขที่ 1 เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
พิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS Coordinate) 13o72'51.13" N, 100o78'21.92" E

ประเภทของอาคารปัจจุบัน (Current typology) ห้องปฏิบัติการและอาคารเรียนในระดับอุดมศึกษา (การศึกษา EDC)

ประเภทของอาคารเมื่อแรกสร้าง (Original typology) อาคารพักอาศัยรวมประเภทหอพัก (ที่อยู่อาศัย RES)

การปกป้องคุ้มครอง (State of protection) ดูแลรักษาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ปีที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ (Year of competition of construction ) พ.ศ.2513 (1970 AD)

ผู้ออกแบบ Architectural designer) จุนโซ ซากากุระ (Junzo Sakakura)

ประวัติความเป็นมาของอาคาร History of buildings)
ในปี พ.ศ.2509 ได้มีการลงนามกู้เงินระหว่างรัฐบาลไทยกับธนาคารโลก ใน "โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา" ระยะแรกมีกำหนด 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2510-2514 โดยมีโรงเรียนในสังกัดกรมอาชีวศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม จำนวน 25 แห่งทั่วประเทศเข้าโครงการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม ซึ่งมีโครงการย้ายมาตั้งที่อำเภอลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นในปี พ.ศ.2511 ประกอบด้วยอาคารเรียน ห้องสมุด โรงอาหาร และหอพัก โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดจุนโซซากากุระ จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง และมีห้างหุ้นส่วนจำกัดออนไท เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง การก่อสร้างได้เสร็จสิ้นลงเมื่อปี พ.ศ.2513 และได้เปิดการเรียนการสอนในปีเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร" ต่อมาในปี พ.ศ.2517 ได้สถาปนาเป็น "วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร" และในปี พ.ศ.2522 ได้โอนมาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และยกฐานะเป็น "คณะเทคโนโลยีการเกษตร" มาจนทุกวันนี้ สำหรับอาคารหอพัก ได้สร้างเป็นกลุ่มอาคาร 3 หลัง ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและสภาพพื้นที่ จึงต้องก่อสร้างอาคารคร่อมบนที่ชุ่มน้ำ โดยในชั้นหลัง กลุ่มอาคารหอพักได้ถูกปรับพื้นที่บางส่วนเป็นสำนักงานภาควิชาและห้องปฏิบัติการ (lab) และบางหลังถูกทิ้งร้าง